Wednesday, February 27, 2013

กาวร้อน...เลอะควรทำอย่างไร


       วันนี้ขอนำสาระน่ารู้มาฝากจากเวบไซต์อื่น ในกรณีที่กาวร้อนเลอะแล้วเราต้องการลบออก ควรทำอย่างไร คำตอบนั้นใกล้เคียงกับเวลากาวตราช้างติดมือ มาดูกันว่าบทความนี้ให้ความรู้อะไรเราบ้างถึง ในเรื่อง "กาว"


     มีความเข้าใจผิดมากมายเกี่ยวกับการลบคราบกาวร้อนออกจากพื้นผิว ไม่ว่าจะใช้ สารพัดน้ำมัน ตั้งแต่ น้ำมันก๊าด น้ำมันสน หรือน้ำมันพืช ไปจนถึง แว๊กซ์และขี้ผึ้งหลากชนิด ซึ่งล้วนไม่ได้ผลที่ดีนัก คำตอบที่แก้ปัญหากาวร้อนเลอะได้ดีที่สุดคือ Acetone (อซิโทน) ท่านอาจสงสัยว่า แล้วเจ้าสารที่ว่านี้จะหาได้จากที่ไหน ง่ายมาก acetone เป็นส่วนประกอบที่มีทั่วไปในน้ำยาล้างยาทาเล็บส่วนมาก
          Acetone ซึ่งเป็นสารทำละลายชั้นดี ซึ่งจะเข้าไปละลายสารเคมีในเนื้อกาวที่ทำหน้าที่ยึดเกาะพื้นผิว การทำความสะอาดคราบกาวร้อนด้วยการใช้ Acetone นั้น ควรระมัดระวังในการทำละลายของสารที่อาจจะเกิดขึ้นกับพื้นผิวนั้นๆด้วย เช่น แว๊กซ์ที่เคลือบสีรถ เป็นต้น ดังนั้นควรใช้ในปริมาณที่พอเหมาะ และไม่ขัดถูแรงจนเกินไป ในบางกรณี อาจป้าย Acetone ทิ้งไว้ที่คราบกาว แล้วทิ้งไว้ แล้วจึงทำใหม่ซ้ำจนคราบกาวค่อยๆนิ่มลง จนสามารถดึงออกได้โดยไม่ทำให้พื้นผิวเสียหาย

          การแคะโดยใช้ไม้เล็กๆช่วย ควรทำด้วยความระมัดระวัง เพราะคราบกาวร้อนที่แข็งจะมีแรงยึดตัวที่แน่น และอาจทำให้สีของพิ้นผิวลอกเสียหายออกมาด้วยได้ ควรใช้ความใจเย็นในการลบคราบกาวร้อน และกาวตราช้างเสมอ

Tuesday, February 5, 2013

กาวตราช้างเข้าตา ทำอย่างไรดี

กาวตราช้างเข้าตา ทำอย่างไรดี



วันนี้ขอนำความรู้จาก พญ. สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต  (http://www.rcopt.org/news-public-4.html) มาเผยแพร่เพื่อประโยชน์สาธารณะครับ
กาวตราช้างเข้าตา : - ทำอย่างไรดี
โดย พญ. สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต

กาวหรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า adhesive glue หรือ superglue เป็นสาร cyanoacrylate ที่มนุษย์เริ่มคิดค้นตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 และนำมาใช้กันตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 โดยใช้กันมากในอุตสาหกรรมและการแพทย์ ในทางการแพทย์ที่ใช้กันบ่อยได้แก่ การเชื่อมโลหะเข้ากับกระดูกในผู้ป่วยโรคทางกระดูกที่จำเป็นต้องฝังโลหะเข้าไปในกระดูก จักษุแพทย์ใช้อุดรูทะลุของดวงตา เช่น ใช้อุดแผลกระจกตาที่เกิดรูทะลุ ใช้เชื่อมแผลให้ติดกันโดยไม่ต้องเย็บ เป็นต้น
กาวมีคุณสมบัติพิเศษตรงที่เกิดปฏิกริยา polymerize ได้อย่างรวดเร็วภายในวินาที ตามคำที่มักพูดกันว่า " “ แปะปุ๊บ ติดปั๊บ “ โดยเฉพาะกับวัสดุที่เป็นด่างนิดๆ เช่น ผิวหนังคนเราดังจะเห็นกาวสามารถทำให้นิ้วติดกันได้อย่างรวดเร็ว เพราะผิวหนังคนเราเป็นด่างเล็กน้อย ถ้าบังเอิญกาวเข้าไปอยู่ในทางเดินหายใจ หรือในดวงตาจะก่อให้เกิดระคายเคืองอย่างมากได้

ในกรณีที่ผิวหนังเกิดติดกันจากกาว ไม่ควรพยายามดึงหรือแยกผิวหนังอย่างแรงเพราะจะทำให้ชั้นผิวๆ ของผิวหนังถลอกหรือฉีกขาด ควรเช็ดด้วยน้ำอุ่นและใช้น้ำยา acetone ซึ่งเป็นสารที่สามารถละลายกาวนี้ได้
จักษุแพทย์หลายๆ ท่านต่างมีประสบการณ์พบผู้ป่วยที่มีปัญหา กาวตราช้างเข้าตาอยู่เนืองๆ ทั้งจากอุบัติเหตุกาวกระเด็นเข้าตาหรือจงใจใส่เข้าตาเพราะเข้าใจผิด ด้วยเหตุที่ลักษณะหลอดของกาวละม้ายคล้ายคลึงกับหลอดขี้ผึ้งป้ายตา จึงมีโอกาสที่คนทั่วไปจะเข้าใจผิดหยิบมาใส่ตา โดยเฉพาะผู้สูงอายุสายตาไม่ค่อยดีอยู่แล้ว จึงไม่ได้อ่านสลากยาก่อนใช้ยา ในกรณีนี้จะเป็นการใส่ยาในจำนวนค่อนข้างมาก กับอีกประเภทหนึ่งเป็นกาวที่ใช้ในการแต่งต่อเล็บในการเสริมสวยเล็บ กาวชนิดนี้จะบรรจุอยู่ในขวดซึ่งมีรูปลักษณ์และขนาดใกล้เคียงกับยาหยอดตามาก จึงมีผู้นำไปหยอดตาเพราะเข้าใจผิด นอกจากนี้ยังมีกาวที่นิยมใช้ตามบ้านใช้ปะหรือเชื่อมวัสดุต่างๆ หรือเป็นอุบัติเหตุในการทำงาน เช่น คุณพ่อบ้านใช้กาวปะวัสดุอะไรอยู่บังเอิญมีเศษกาวกระเด็นเข้าตาหรือคนงานที่ต้องใช้กาวในการเชื่อมวัสดุ ที่พบอยู่บ่อย ๆ ในกลุ่มช่างทำเฟอร์นิเจอร์อาจใช้กาวทาเศษไม้อัดเพื่อเชื่อมไม้อัดให้ติดกัน บางครั้งอาจใช้กาวมากเกินไปเมื่อประกบไม้อัดเข้าด้วยกันทำให้กาวที่มากเกินกระเด็นเข้าตาได้ ในกลุ่มหลังนี้มักจะเป็นกาวกระเด็นเข้าตาเป็นจำนวนน้อย
อุบัติเหตุจากกาวเข้าตาโดยจงใจหยอดเข้าตาจากการเข้าใจผิดใช่ว่าจะพบแต่ในบ้านเรา แม้ประเทศที่พัฒนาก็มีรายงานอยู่พอสมควร บางประเทศรายงานว่าผู้ป่วยมักจะสำคัญผิดใช้น้ำยาต่อเล็บ ซึ่งมีสาร cyanoacrylate อยู่ มาหยอดตาด้วยเหตุที่ขวดน้ำยาต่อเล็บมีลักษณะคล้ายกับยาหยอดตาประเภทน้ำตาเทียม หรือน้ำยาหล่อลื่นดวงตาซึ่งมักมีอยู่ประจำบ้านนำมาใช้ในเวลาที่อาการระคายเคืองในตา ส่วนใหญ่จะรายงานว่าแม้จะก่อให้เกิดอาการระคายเคืองมาก บางรายทำให้กระจกตาดำถลอกเจ็บปวดอยู่หลายวัน แต่มักจะหายเป็นปกติได้ในที่สุด

ข้อปฏิบัติเมื่อกาวกระเด็นเข้าตา 


  • ถ้าบริเวณที่ถูกเป็นผิวหนังรอบๆ ตา โดยที่เปลือกตาไม่ติดกัน คือลืมตาได้ให้เช็ดหรือล้างบริเวณนั้นด้วยน้ำอุ่น และล้างตาด้วยน้ำสะอาด หากมีอาการเคืองตามากปรึกษาจักษุแพทย์เนื่องจากอาจมีรอยถลอกของผิวตาดำ หรือมีเศษวัสดุค้างภายในตาหรือกระจกตาซึ่งแพทย์จะช่วยเอาออกและให้การรักษาต่อไป หากโดนเฉพาะผิวหนังซึ่งห่างไกลดวงตา อาจใช้น้ำยาจำพวกสาร acetone เป็นตัวละลายได้ หากเป็นบริเวณใกล้ดวงตาซึ่งการใช้สาร acetone อาจเข้าตาได้ไม่แนะนำให้ใช้ มีหลักกว้างๆ ว่าแม้สารตัวหนึ่งสามารถละลายอีกตัวหนึ่งได้ก็ห้ามใช้ในตา เพราะปฏิกิริยาการละลายอาจก่อให้เกิดความร้อนหรือสารอีกตัวซึ่งทำลายดวงตามากขึ้นไปอีก
  • ถ้าหนังตาปิดทั้ง 2 ข้าง โดยหนังตาบนติดกับหนังตาล่างและขนตาติดกันไปหมดผู้ป่วยจะตกใจเพราะลืมตาไม่ได้เลย ให้ใช้น้ำอุ่นเช็ดเบาๆ แล้วปรึกษาแพทย์ อย่าพยายามดึงหนังตาแยกจากกัน เพราะอาจทำให้ผิวหนังตลอดจนขนตาฉีกขาดหรือหลุดลอกออก ก่อความเจ็บปวดเพิ่มขึ้น
  • ในกรณีที่เศษกาวกระเด็นเข้าตาเล็กน้อย กาวอาจไม่โดนผิวหนังเลย แต่ไปถูกเยื่อบุตาขาวและกระจกตาทำให้กระจกตาอักเสบ มีอาการตาแดง ปวดตา ระคายเคืองภายในดวงตาควรล้างตาด้วยน้ำสะอาดและปรึกษาจักษุแพทย์อีกที


เมื่อกาวเข้าตาอาจทำให้เปลือกตาบนและล่างติดกัน ลืมตาไม่ขึ้นก่อให้เกิดโกลาหล ผู้ป่วยจะตกใจคิดว่าตาจะบอดแล้วมั้ง โดยทั่วไปมักจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายมากมายนัก และภายในดวงตาก็มักจะไม่ติดกันเพราะผิวหน้าดวงตาดำของคนเรามีน้ำตาฉาบอยู่บางๆ เป็นตัวกั้นมิให้กาวเข้าไปติดหรือเชื่อมส่วนต่างๆ เข้าด้วยกันได้ แต่อาจมีเศษวัสดุชิ้นเล็กๆ เข้าไปฝังในกระจกตาก่อให้เกิดการอักเสบอยู่สักระยะหนึ่ง
แม้ว่าโดยส่วนใหญ่จะไม่ก่อให้เกิดผลเสียอย่างถาวรมากมายนัก แต่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด เสียเวลาทำงาน เสียทรัพย์ใช้จ่ายในการรักษา จึงควรหลีกเลี่ยงหรือป้องกันมิให้กาวเข้าตาจะดีกว่า

1. อย่าเก็บเครื่องสุขภัณฑ์ไว้รวมกับเวชภัณฑ์ อย่าเก็บกาวไว้ใกล้ๆ ยาจำพวกยาหยอดตา ยาหยอด
จมูกหรือยาดม ควรติดสลากไว้ที่กาวให้เห็นชัดๆ ว่าไม่ใช่ยา หากสลากหน้าหลอดหลุดหายไปให้ทิ้งเสีย

2. ก่อนใช้ยาหยอดตาต้องตรวจดูสลากหน้าขวดให้ชัดๆ ว่า เป็นยาหยอดตาหรือไม่ ยาหมดอายุหรือยัง

3. ผู้ที่ทำงานเสี่ยงต่อการกระเด็นของกาว ควรสวมแว่นตาป้องกันไว้ หากเกิดอุบัติเหตุจะทำให้โอกาส
เข้าตาน้อยลง มาตรฐานการป้องกันความปลอดภัยระหว่างการทำงานควรยกมาพิจารณาและปฏิบัติเข้มงวดยิ่งขึ้น


Friday, February 1, 2013

กาวตราช้างติดมือ ใช้ "เกลือ"





หลายคนๆเคยประสบปัญหากาวตราช้างติดมือ บางคนรอหลายวันกว่ามันจะออกมา ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ความคิดที่ดีนัก วันนี้blogเราขอเสนอการนำกาวช้างออกจากมือด้วย เกลือ ใช่แล้ว คุณอ่านไม่ผิด เกลือ ผลึกสีขาวมีรสเค็มนั่นแหละ
1. นำเกลือประมาณสองช้อนโต๊ะเทลงบนมือ


2. เทน้ำผสมในมือเล็กน้อยให้ละลาย
3. ถูมือสองข้างเข้าด้วยกัน ประมาณ 1 นาที
4. ล้างน้ำสะอาด
5. ถูต่ออีกนิดหน่อย
6. ก็จะได้มือสะอาดของคุณคืนกลับมาอย่างง่ายดาย
(หากไม่สะอาดลองย้อนกลับไปทำตั้งแต่ข้อ 1 อีกซักรอบแน่นอนว่าสะอาดชัวร์ๆ)
ไม่น่ใจว่าอยากหรือง่ายกว่า วิธีอื่นๆเวลา กาวตราช้างติดมือ หรือไม่ต้องลองทำกันดูนะครับ ครั้งหน้ายังมีวิธีอื่นๆ รวมไปถึงการใช้กาวร้อนให้มีประสิทธิภาพมาฝากกันคราวหน้า อย่าลืมติดตามอ่านกันนะครับ